ประวัติความเป็นมา
สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (Thai Bioplastics Industry Association, TBIA) เกิดขึ้นจากการรวมตัวของ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกในส่วนปลายน้ำที่มีความใส่ใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม และมีวิสัยทัศน์ด้านความต้องการในตลาดโลกซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ที่ต้องการให้อุตสาหกรรม พลาสติกชีวภาพเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น สนช. จึงได้ริเริ่มและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งเป็นชมรมพลาสติกชีวภาพไทยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2548 โดย มี 5 บริษัทหลักที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ได้แก่ บริษัท ทานตะวัน อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน), บริษัท นิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท อุตสาหกรรมถุงพลาสติค ไทย จำกัด, บริษัท ยูนิตี้ ไทย โปรดักส์ จำกัด และ บริษัท ควอลิตี้ มิเนอรัล จำกัด
ภายหลังการก่อตั้ง ทางชมรมได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมระดมสมองเพื่อผลักดันให้เกิด ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ การรวบรวมข้อมูลด้านเทคโนโลยีและการตลาด การจัดประชุมสัมมนา และการร่วมมือกับนักวิจัยภาครัฐในการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกนักวิชาการและกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้มีความสนใจและใส่ใจในสิ่งแวดล้อม และสร้างสรรค์นวัตกรรมพลาสติกชีวภาพให้เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากความสำเร็จในการดำเนินงานทำให้มีการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการที่สนใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งครอบคลุมทั้งสายโซ่อุตสาหกรรม ทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบชีวมวลอุตสาหกรรมต้นน้ำ ตลอด จนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของชมรมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ทาง ชมรมจึงได้มีการปรับเปลี่ยนและจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 ที่ ผ่านมา โดยก่อตั้งขึ้นในชื่อใหม่เป็น “สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย” ซึ่งเป็นชื่อที่สมาคมใช้มาจนถึงปัจจุบัน
พันธกิจ
สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยเป็นการรวมตัวของบริษัทผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพโดยการประสานงานระหว่างผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ผู้ขึ้นรูปพลาสติก ผู้ค้า รวมทั้งผู้บริโภค ในบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้เกิดความร่วมมือในการทำงานเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยสร้างความตระหนักถึงประโยชน์ของพลาสติกชีวภาพแก่สาธารณชน ผ่านกิจกรรมสนับสนุนต่างๆ ดังนี้
• เป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เกี่ยวกับตลาดและเทคโนโลยีด้านพลาสติกชีวภาพ
• สนับสนุนการเข้าถึงมาตรฐานด้านพลาสติกชีวภาพในระดับนานาชาติผ่านการผลักดันให้เกิดระบบรับรอง
• ส่งเสริมการสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของพลาสติกชีวภาพและห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้มาตรฐานสากล
• กระตุ้นให้เกิดเครือข่ายด้านพลาสติกชีวภาพระหว่างสมาชิกนักวิชาการและนักวิจัยรวมทั้งองค์กรนานาชาติ
• กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ
• ร่วมมือกับรัฐบาลในการผลักดันให้เกิดนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในระดับประเทศ
วิสัยทัศน์
สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยคือการผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และการนำผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมาใช้ในเชิงพาณิชย์ในระดับภูมิภาค โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวทางการบริหารจัดการของเสีย และผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
รายชื่อคณะกรรมการปัจจุบัน
- คุณวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมฯ
เกียรติประวัติของสมาคม
สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยได้ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) จัดทำแผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (พ.ศ.2551-2558) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของประเทศให้ดำเนินไปอย่างมีทิศทาง และเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อีกทั้งมีการจัดทำร่างประมวลภาพเชิงเปรียบเทียบ Benchmarking เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ รวมถึงการสร้างเครือข่ายโดยการลงนามบันทึกข้อตกลงกับ European Bioplastic (EuBP) กับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและ International Biodegradeble Products Institute(BPI) กับประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนาระบบคุณภาพในการให้กใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ สำหรับการจัดนิทรรศการและสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติด้านพลาสติกชีวภาพที่ทางสมาคมได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มีดังต่อไปนี้
• InnoBioplast 2006 เมื่อวันที่ 21-24 กันยายน 2549 ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน
• EcoInnovation Asia 2008 : Bioplastics เมื่อวันที่ 3-5 ตุลาคม 2551 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์
• InnoBioplast 2010 เมื่อวันที่ 9-11 กันยายน 2553 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
• โครงการนำร่องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ การใช้ถุงพลาสติกชีวภาพในร้าน Puff&Pie
• โครงการนำร่องการใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพในการคัดแยกขยะอินทรีย์ ณ เทศบาลตำบลกระดังงา อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
• การใช้ถุงพลาสติกชีวภาพPBSคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ ณ เกาะเสม็ด
• การใช้ถุงพลาสติกชีวภาพสำหรับการเพาะชำกล้าไม้ร่วมกับกรมป่าไม้
• งานสัมมนาวิชาการ “The 3rd Thai-Japan Bioplastics and Biobased Material Symposium” เมื่อวันที่ 20-21 ธันวาคม 2554 ณ โรงแรมพลูแมนคิงพาวเวอร์
แผนยุทธศาสตร์
สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ ไว้ 5 ด้าน ซึ่งเน้นการทำการตลาดเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางธุรกิจและการสร้างโครงการนำร่องเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพ รวมถึงการเตรียมเรื่องมาตรฐานของพลาสติกชีวภาพซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่มีความจำเป็นต่อการส่งออกเพื่อการขยายตลาดในอนาคต โดยกลยุทธ์และกิจกรรมของสมาคมฯ มีดังนี้
1. เร่งการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของพลาสติกชีวภาพต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพ
2. ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ขึ้นในประเทศไทยโดยการเร่งสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนไทย การลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้านพลาสติกชีวภาพ การร่วมมือและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและบุคลากรด้านการวิจัยกับภาครัฐ รวมทั้งกับบริษัทหรือองค์กรในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถยกระดับศักยภาพในการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติที่มีความได้เปรียบด้านตลาดและเทคโนโลยี
3. เร่งพัฒนาตลาดของผู้บริโภคภายในประเทศไปพร้อมกับการผลักดันให้ภาครัฐกำหนดนโยบายสนับสนุนด้านสิ่ง แวดล้อม เช่น นโยบายการจัดการขยะพลาสติกและขยะอินทรีย์ การกำหนดสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ของ การ บริโภค ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในประเทศ และมาตรการการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ซึ่ง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้พลาสติกชีวภาพและการจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร รวม ถึงการจัดกิจกรรม Business Matching เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ
4. เร่งผลักดันให้มีระบบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของพลาสติกชีวภาพและห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้มาตรฐานสากลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ใช้และการส่งออก
5. เร่งสร้างความเข้มแข็งขององค์กรทั้งด้านความสามารถในเชิงบริหารจัดการและการจัดหารายได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วม มือและเสียสละของสมาชิกอย่างเข้มแข็ง